ความหมาย


ความหมายของสหกรณ์
ความหมายโดยทั่วไป
       คำว่า   สหกรณ์ มาจากคำ 2 คำรวมกัน
               สห = รวมกัน
               กรณ์ = การกระทำ
      ความหมายโดยทั่วไป = การทำงานร่วมกัน หรือ การร่วมมือกัน
โดยสหกรณ์จะต้องประกอบด้วยลักษณะเฉพาะที่สำคัญดังนี้ คือ
      O สหกรณ์ คือ ธุรกิจรูปหนึ่งที่มีการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับธุรกิจรูปอื่นๆ โดยใช้ปัจจัย4 คือ คน เงิน ทรัพยากร และการจัดการ
      O เกิดขึ้นจากการรวมคนและรวมทุนด้วยความสมัครใจ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
      O มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจที่แน่นอน เพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
      O มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล
      O สมาชิกทุกคนมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน
      O มีกฎหมายสหกรณ์และข้อบังคับสหกรณ์ เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

ความหมายทางวิชาการ
 
     Charles Jide นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า “สหกรณ์ คือ สมาคมที่มุ่งหวังกำจัดเสียซึ่งกำไร”
      ILO (International Labor Organization)
      “สหกรณ์ คือ สมาคมของคนที่มีฐานะยากจนต่างสมัครใจที่จะมาร่วมกันบรรลุวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ โดยการก่อตั้งองค์การธุรกิจที่มีการควบคุมแบบประชาธิปไตย ร่วมลงทุนกันอย่างเสมอภาคและยอมรับการเสี่ยงภัยและผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างยุติธรรม”
             องค์การ : หน่วยงานใหญ่
             องค์กร : หน่วยย่อยขององค์การ
      Alexander ได้ให้คำนิยามของสหกรณ์ โดยเน้นถึงธรรมชาติและลักษณะสำคัญขององค์การสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นวิสาหกิจ โดยศึกษาเชื่อมโยงระหว่าง 1.การเป็นเจ้าของ  2.การควบคุม  3.การใช้บริการ 
      “สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจ ซึ่งส่วนประกอบ การเป็นเจ้าของ การควบคุม การใช้ รวมอยู่ในประชาชนกลุ่มเดียวกัน”
องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (ICA) เมื่อ พ.ศ.2538 ได้อธิบายความหมายของสหกรณ์ดังนี้
       “สหกรณ์ คือ องค์การปกครองตนเองของบรรดาบุคคลซึ่งรวมกลุ่มกันโดยความสมัครใจ เพื่อสนองความต้องการอันจำเป็นและความหวังร่วมกันทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม โดยการดำเนินวิสาหกิจที่พวกเขาเป็นเจ้าของร่วมกัน และควบคุมตามหลักประชาธิปไตย”

        สรุป   “สหกรณ์ คือ  การรวมตัวกันของประชาชน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้สูงขึ้น


สหกรณ์กับระบบเศรษฐกิจ
          สหกรณ์เป็นระบบความร่วมมือของกลุ่มคนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจโดยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่มีความเดือดร้อนอันเกิดจากระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ดังนั้นการศึกษาถึงความแตกต่างของสหกรณ์กับระบบเศรษฐกิจต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการนำระบบสหกรณ์ไปประยุกต์ใช้ต่อไปดังนี้
       1. สหกรณ์กับทุนนิยม              ทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่นายทุนมีบทบาทอย่างมาก และใช้กำไรเป็นเครื่องจูงใจสำคัญ ในระบบนี้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยสมบูรณ์ การประกอบกิจการต่างๆ แข่งขันกันได้อย่างเสรี รัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซง รัฐจะมีหน้าที่เพียงการให้เกิดความยุติธรรม รักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอกเท่านั้น
              สหกรณ์ เป็นระบบธุรกิจที่ไม่ใช้กำไรเป็นเครื่องจูงใจในการประกอบกิจการ แต่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้มีมาตรฐานการครองชีพดีขึ้น สหกรณ์เป็นธุรกิจที่มุ่งรวมคนมากกว่ารวมทุน ขณะที่ธุรกิจทุนนิยมเน้นการรวมทุนมากกว่ารวมคน และที่สำคัญอีกประการก็คือ สมาชิก สหกรณ์มีสิทธิเท่าเทียมกันทุกประการในการดำเนินงานสหกรณ์ ในขณะที่ธุรกิจทุนนิยมนั้นใครมีทุนมากหรือมีหุ้นมากกว่าก็จะได้สิทธิเข้าบริหารงานธุรกิจแทน
ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ นอกจากนั้นสหกรณ์เกิดขึ้นมาก็เนื่องจากความบกพร่องของระบบทุนนิยมนั่นเอง กล่าวคือ ในระบบทุนนิยมทำให้นายทุนและกรรมกรมีความเป็นอยู่แตกต่างกันมากมาย ธุรกิจสหกรณ์ก่อตัวขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางปิดช่องว่างดังกล่าวให้หมดไปนั่นเอง
       2. สหกรณ์กับสังคมนิยม              สังคมนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่นายทุนไม่มีบทบาท กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจต่างๆเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หรือผู้บริหารประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้สั่งดำเนินการเพื่อส่วนรวม ในระบบนี้ด้านปัจเจกบุคคลไม่มีความสำคัญแต่ประการใด


              สหกรณ์ เป็นระบบธุรกิจที่ยังคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล กล่าวคือ สมาชิกทุกๆ คนยังมีสิทธิ์ในทรัพย์สิน มีเสรีภาพในการประกอบการและความนึกคิด และแสดงออกได้อย่างเต็มที่


สหกรณ์กับธุรกิจรูปอื่น
       ถ้าเปรียบสหกรณ์กับธุรกิจรูปอื่น จะเห็นว่าสหกรณ์กับบริษัทมีลักษณะคล้ายกัน โดยเฉพาะลักษณะในเรื่องการรวมทุน(โดยแบ่งทุนออกเป็นหุ้นๆ) การดำเนินงาน โดยการจัดจ้างผู้จัดการ การประกอบธุรกิจก็มีการซื้อขายทำนองเดียวกัน ตลอดจนการดำเนินงานภายใต้ระบอบการแข่งขันเสรีโดยอาศัยประสิทธิภาพในการบริหารงานเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของธุรกิจ แต่ทั้งหมดหาได้ทำให้สหกรณ์กับบริษัทเหมือนกันไม่ สหกรณ์กับบริษัทยังมีข้อแตกต่างกันหลายประการ ซึ่งจะเปรียบเทียบให้เห็นดังตารางต่อไปนี้